สิ่งที่มือใหม่หัดถ่ายภาพส่วนใหญ่ต้องเคยพลาด
https://www.pexels.com/th-th/photo/610293/
เพราะทุกคนเคยผิดพลาด ช่างภาพมืออาชีพหลาย ๆ คนต่างก็ต้องเคยพลาดเรื่องง่าย ๆ ในการถ่ายภาพมาก่อนโดยเฉพาะช่วงหัดถ่ายภาพแรก ๆ ดังนั้นใครที่อยากจะเริ่มหัดถ่ายภาพ ลองเช็กสิ่งที่ควรระวังเหล่านี้ให้ดี เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด
วันนี้เราขอนำเสนอ 5 สิ่งที่มือใหม่หัดถ่ายภาพส่วนใหญ่ต้องเคยพลาด พร้อมแชร์คำแนะนำดี ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อพัฒนาฝีมือการถ่ายภาพให้ดีขึ้นต่อไป
ภาพหลุดโฟกัส
วิธีแก้ ล็อกจุดโฟกัสให้อยู่เฉพาะบริเวณที่ต้องการ เพื่อทำให้โฟกัสตรงจุด สวยคมทุกภาพ
ขอบคุณภาพจาก : Daria Magazzu https://unsplash.com/photos/ePrqJDQ4bbg
ถ้าใช้ออโต้โฟกัส และปล่อยให้กล้องเลือกจุดโฟกัสเอง มีโอกาสที่ภาพจะหลุดโฟกัสได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถ่ายในระยะชัดตื้น ถ้านิ้วของเราเผลอลั่นชัตเตอร์ไปแล้ว การจะกลับมาแก้ไขภาพก็สายเกินไปซะแล้ว นี่จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการถ่ายภาพ
แน่นอนว่าปัญหานี้แก้ได้ง่าย ๆ ด้วยการล็อกจุดโฟกัสให้อยู่เฉพาะบริเวณที่ต้องการ จะช่วยให้กล้องโฟกัสตรงจุดทุกครั้งที่แชะภาพ และทริคที่สำคัญอีกหนึ่งอย่าง คือ เมื่อไรที่ถ่ายภาพ Portrait ควรทำให้จุดโฟกัสล็อกอยู่ที่บริเวณดวงตาของแบบเสมอ เพื่อทำให้ภาพออกมาสวยคมและไม่หลุดโฟกัสนั่นเอง
ภาพเบลอ
วิธีแก้ เพิ่มค่า Shutter Speed ให้มากขึ้น อย่างน้อยให้เท่ากับทางยาวโฟกัสเลนส์ เพื่อเพิ่มคมชัดให้ภาพ
ขอบคุณภาพจาก : Guilherme Rossi https://www.pexels.com/th-th/photo/1668928/
ใครที่สงสัยว่าทำไมภาพที่เราถ่ายมันดูเบลอ ไม่คมชัดเลย ทั้งที่พยายามถือกล้องให้นิ่งที่สุดแล้ว นั่นอาจเป็นเพราะว่าเราใช้ Shutter Speed ที่ต่ำเกินไป ซึ่งเมื่อ Shutter Speed ของกล้องต่ำ จะทำให้เกิดปัญหากล้องสั่นและส่งผลให้ความคมชัดของภาพลดลงได้
ซึ่งสิ่งที่จะกำจัดปัญหานี้ให้สิ้นซากเลยก็คือ การเพิ่มค่า Shutter Speed ให้มากขึ้น อย่างน้อยให้เท่ากับทางยาวโฟกัสของเลนส์ เพียงเท่านี้ปัญหาภาพเบลอ ภาพไม่ชัดก็จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป แต่ถ้ากล้องของใครที่มีระบบกันสั่นในตัวอยู่แล้ว ก็อาจจะไม่ได้เจอปัญหานี้สักเท่าไรนัก
สีผิดเพี้ยน
วิธีแก้ เปิดรูรับแสงเล็กน้อย เพื่อรักษารายละเอียดในไฮไลท์และไม่ทำให้เงาหายไป หรือใช้โหมดวัดแสงเฉพาะจุด
ขอบคุณภาพจาก : Viktor Vasicsek https://unsplash.com/photos/-UWFhBX_cTw
แม้การถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW จะทำให้ปรับแสงเพิ่มเติมหลังถ่ายภาพได้อย่างอิสระ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีข้อจำกัดเลย เพราะหากภาพถ่ายแสงมืดเกินไป เงาจะเป็นเม็ดและสีไม่เสมอกัน หรือถ้าแสงสว่างเกินไป ช่วงไฮไลท์ก็จะสว่างมากจนแทบไม่เห็นรายละเอียดในภาพเลย
หากถ่ายภาพในฉากที่มีช่วงไดนามิกสูง (HDR) ซึ่งมีช่วงไฮไลท์ที่สว่างมากและมีเงามืด หลักการง่าย ๆ คือ ให้เปิดรูรับแสงเพียงเล็กน้อย เพื่อรักษารายละเอียดในไฮไลท์ให้คงอยู่ และไม่ทำให้เงาหายไป นอกจากนี้ยังมีอีกทริคเล็ก ๆ ที่อยากแนะนำ คือ ลองใช้โหมดวัดแสงเฉพาะจุด (Spot Metering) เพื่อวัดความต่างของแสงในเฟรมให้พอดีที่สุด
ไม่สังเกตฉากหลัง
วิธีแก้ ตรวจเช็กพื้นหลังให้ดีก่อนถ่ายภาพเสมอ ไม่ควรมีอะไรที่ดึงดูดความสนใจไปจากตัวแบบ
ขอบคุณภาพจาก : Pedro Photo https://www.pexels.com/th-th/photo/16305810/
ต่อให้ภาพ Portrait จะสวยเลิศแค่ไหนก็สามารถพังได้ง่าย ๆ ถ้าเกิดมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดโผล่ขึ้นมาอยู่บนศีรษะของแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ต้นไม้” ดังนั้นอย่ามัวโฟกัสแต่ตัวแบบหรือท่าโพสต่าง ๆ เท่านั้น เพราะอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องคอยสังเกตด้วย คือ ฉากหลัง ควรตรวจสอบให้ดีว่าไม่มีสิ่งใดที่รบกวนความสนใจไปจากแบบของเรา แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะไม่ได้อยู่ในโฟกัสของกล้องก็ตาม
ไม่เข้าใจองค์ประกอบภาพ
วิธีแก้ ใช้กฎสามส่วนในการจัดองค์ประกอบภาพ วางวัตถุหลักให้อยู่บนจุดตัดฝั่งซ้ายหรือขวา และปล่อยให้มีพื้นที่โล่งในภาพ
ขอบคุณภาพจาก : Alejandro Luengo https://unsplash.com/photos/W1Dlxh5dD7A
ช่างภาพมือใหม่หลาย ๆ คนถ่ายภาพโดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่ององค์ประกอบภาพสักเท่าไร ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เพราะองค์ประกอบภาพที่ไม่ดี อาจทำให้คนทั่วไปมองผ่านภาพถ่ายของเราได้ง่าย ๆ เลยล่ะ
แต่โชคยังดีที่โลกใบนี้มี “กฎสามส่วน” และ “จุดตัดเก้าช่อง” เป็นตัวช่วยที่ทำให้เราสามารถจัดองค์ประกอบภาพได้ง่ายขึ้นมาก ซึ่งหลักสำคัญที่ช่างภาพใช้กันทั่วไป คือ วัตถุหลักควรอยู่ตรงบริเวณจุดตัดของเส้นด้านซ้ายหรือขวา แล้วปล่อยให้พื้นที่อื่นในภาพโล่ง องค์ประกอบภาพที่ดีจะเพิ่มความดึงดูดให้ภาพดูสวย น่ามอง และมีสัดส่วนที่ลงตัวยิ่งขึ้น
และนี่ก็คือ 5 สิ่งที่ช่างภาพมือใหม่ทุกคนต้องระวังให้ดีในทุก ๆ ครั้งที่หยิบกล้องคู่ใจขึ้นมาถ่ายภาพ สำหรับมืออาชีพอาจมองว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องเบสิกที่แก้ได้ง่าย ๆ แต่หากย้อนกลับไปในช่วงเริ่มหัดถ่ายภาพ เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็ต้องเคยประสบปัญหาเหล่านี้เช่นเดียวกัน เราจึงขอแชร์ข้อมูลดี ๆ ที่สามารถนำไปใช้งานในสถานการณ์จริงได้ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อช่างภาพมือใหม่ทุกคนไม่มากก็น้อย
บทความโดย Colin Payne จากเว็บไซต์ format.com
https://www.format.com/magazine/resources/photography/common-beginner-photography-mistakes