เตรียมพร้อมก่อนถ่ายงานวิดีโอ

เตรียมพร้อมก่อนถ่ายงานวิดีโอ
08/02/22
21 view(s)
เตรียมพร้อมก่อนถ่ายงานวิดีโอ

ถ้าจะถ่ายงานแบบจริงจัง หรือรับงานหารายได้ เพื่อเอาวิดีโอไปใช้งานได้แบบเต็มที่ ต้องเปลี่ยนการถ่ายงานวิดีโอโหมดออโต้ ไปเป็นการเซตค่าเองอย่างจริงจัง และให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ควรจะเอาอุปกรณ์อะไรไปบ้าง เพื่อให้สามารถถ่ายได้ครอบคลุม

 

เตรียมอุปกรณ์ที่ควรใช้ เพื่อฟุตเทจที่ต้องการ

 

การออกกอง 1 ครั้ง จะต้องใช้ทั้งอุปกรณ์หลักและอุปกรณ์เสริมที่เหมาะกับงาน จะทำให้ได้ฟุตเทจสำหรับเอาไป Post-Production หรือใช้ต่อได้ง่าย อุปกรณ์หลักๆ อย่าง ‘กล้อง’ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แต่การเลือกใช้งานก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละรุ่นได้ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่ต่างกัน สำหรับใครที่อยากเลือกกล้องไปใช้ในงาวิดีโอ บทความนี้ การเลือกกล้องให้เหมาะกับงานวิดีโอ จะแนะนำกล้องที่ตอบโจทย์การใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น Content Creator , Vlogger และ Filmmaker

 

เลนส์

 

การเลือกใช้เลนส์ให้ตอบโจทย์กับเนื้องาน เพื่อเสริมวิดีโอที่ต้องการสื่อออกไป ได้มุมมองที่ต้องการมากขึ้น

 

source Yaroslav Shuraev

- เลนส์มาตรฐาน (Standard Lens) เป็นเลนส์ที่มีระยะทางยาวโฟกัสอยู่ที่ 50mm ให้เฟรมภาพที่มีระยะพอดีกับการมองด้วยตาเปล่า เหมาะสำหรับการถ่ายทิวทัศน์หรือภาพทั่วไป

 

source Kelly L

- เลนส์มุมกว้าง (Wide Angle Lens) เป็นเลนส์ที่มีระยะทางยาวโฟกัสน้อยกว่า 50mm ลงมาเรื่อยๆ ยิ่งน้อยเท่าไหร่ ก็จะได้มุมภาพที่กว้างขึ้น สามารถเก็บฉากได้ครบ แต่อาจจะมีบิดเบือนนิดหน่อย หรือโค้งน้อยๆ ตรงขอบเฟรม

 

source Taryn Elliott

- เลนส์เทเลโฟโต้ระยะกลาง (Medium Telephoto Lens) เป็นเลนส์ที่มีระยะทางยาวโฟกัสอยู่ที่ ประมาณ 85mm - 100mm มุมรับภาพแคบ ทำให้ตัดสิ่งที่ไม่ต้องการออกจากเฟรมได้ง่าย ช่วยให้เก็บฟุตเทจในตอนที่เข้าใกล้ไม่ได้ ทำให้ได้ตัวแบบที่มีสัดส่วนสมจริง และบิดเบี้ยวน้อยกว่าภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง แถมยังถ่ายให้ขึ้นโบเก้ได้ง่ายๆ ด้วย

 

source Islem Benzegouta

- เลนส์เทเลโฟโต้ (Telephoto Lens) เป็นเลนส์ที่มีระยะทางยาวโฟกัสอยู่ที่ 135mm ขึ้นไป คล้ายๆ กับระยะกลาง แต่เทเลโฟโต้แบบปกติเข้าใกล้วัตถุที่อยู่ไกลได้มากกว่า แต่ด้วยเลนส์มีระยะทางโฟกัสที่ยาว ทำให้เลนส์มีไซส์ที่ยาวและมีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ไม่เหมาะกับการ Handheld หรือขึ้นกิมบอล แต่จะเหมาะกับการใช้ขาตั้งกล้องมากกว่า

 

ก่อนการลงมือถ่ายจริง จะต้องรู้อยู่แล้วว่าภาพที่ต้องการเป็นแบบไหน การเลือกเลนส์ในแต่ละครั้งก็จะเป็นไปตามแต่ความต้องการในการใช้งาน ถ้าเตรียมไว้พร้อมกับการใช้งาน มุมภาพที่วางแผนเอาไว้ว่าต้องมี ก็จะได้ตามต้องการ

 

กิมบอล (สำหรับออกกอง ถ่าย Outdoor)

 

source Ivan Khmelyuk

กิมบอลเป็น 1 ในอุปกรณ์ที่ตอบโจทย์การทำคอนเทนต์วิดีโอในยุคนี้ จากที่เคยใช้ขาตั้งกล้องก็เปลี่ยนมาใช้กิมบอลเป็นซะส่วนใหญ่ ตัวกิมบอลจะใช้งานได้ยืดหยุ่นกว่า ทำคอนเทนต์วิดีโอลง Youtube หรือออกกองแบบจริงจังไม่ว่าจะกองเล็กหรือกองใหญ่ ก็ใช้งานได้ครอบคลุม

 

source Teela Hudak

เพราะช่วยเรื่องการแพนกล้องได้สมูท ช่วยเรื่องการสั่นเวลาที่ต้องเดินถ่าย ให้วิดีโอนิ่งขึ้น ทำให้คนดูวิดีโอจบแบบไม่รู้สึกเวียนหัว แนะนำว่ามีไว้ 1 ตัว ก็สามารถทำได้ทุกคอนเทนต์ ส่วนเรื่อง การใช้งานกิมบอล (Gimbal) สำหรับงานวิดีโอ ก็ติดตามได้ที่บทความนี้ได้เลย และสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าการถ่ายวิดีโอสามารถแพนไปทิศทางไหนได้บ้าง 7 Basic Movements สำหรับการถ่ายวิดีโอให้ออกมาน่าสนใจ บทความนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจในการถ่ายมากขึ้น

 

ไมโครโฟน

 

การเลือกใช้ไมโครโฟนแบบแยก เป็นการเพิ่มคุณภาพของเสียงให้กับวีดีโอ อย่างการถ่าย Vlog ที่หลายคนคิดว่าเป็นการทำคอนเทนต์แบบง่ายๆ ก็ยังจำเป็นต้องใช้ แต่การดูวิดีโอ 1 ครั้ง จะต้องมีภาพ เสียง แสง ที่ทำงานร่วมกัน ส่วนไมค์ที่เลือกใช้เวลาถ่ายวิดีโอ Outdoor จะเป็นไมค์ไวเลส และไมค์ shotgun จะเลี่ยงการใช้ไมค์ที่มีสาย ส่วนการถ่ายแบบ Indoor หรือนั่งคุยธรรมดา ก็เริ่มเปลี่ยนมาใช้ไวเลสแล้ว เพราะจะคล่องตัวในการทำงานมากกว่า

 

เมมโมรี่การ์ด

 

เลือกใช้เมมโมรี่การ์ดความจุประมาณ 128GB หรือ 256GB เตรียมสำรองไว้ 2-3 อัน เพื่อให้การทำงานไม่สะดุด เพราะส่วนใหญ่การถ่ายทำ จะถูกวางไว้แล้วว่าจะทำอะไร ช่วงไหนบ้าง ถ้าต้องเสียเวลาตอนเมมเต็มเพื่อ Backup ข้อมูลบ่อยๆ ก็ไม่ใช่เรื่องสนุก เพราะจะทำให้ไม่ได้ถ่ายตามที่วางไว้ และเกิดปัญหาตามมาได้

 

แบตเตอรี่สำรอง

 

ส่วนใหญ่แล้วการถ่ายงานจะต้องมีการวางแผนไว้เป็นอย่างดี เพื่อใช้เวลาให้คุ้มค่าและลดความผิดพลาดให้น้อยที่สุด ต้องมีแบตเตอรี่เสริมไว้สักชุด เผื่อเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ดังนั้นแบตเตอรี่ทุกก้อน ไม่ว่าจะเป็นที่แบตติดกล้องและแบตสำรองต้องชาร์จให้เต็ม เพราะถ้าแบตหมด ก็ถ่ายงานต่อไปไม่ได้

 

ND Filter (เหมาะกับการถ่าย Outdoor)

 

ND Filter เป็นอุปกรณ์เสริมที่ช่วยให้การถ่ายวิดีโอง่ายขึ้น จะช่วยกรองแสงที่เข้ามาในกล้อง ทำให้ได้ค่าแสงที่เหมาะกับการตั้งค่า เพราะในการถ่ายวิดีโอจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สัมพันธ์กันกับเฟรมเรท เช่น 25fps สปีตชัตเตอร์จะอยู่ที่ 1/50 อาจจะใช้ไม่ได้กับแสงเยอะๆ ถ้าตอนไหนใช้รูรับแสงกว้าง ๆ แสงจะล้น เลยต้องมี ND มาลดปริมาณแสงลง

 

source Joseph Eulo

อย่างในคลิปนี้ที่ถ่ายในสภาพแสงที่มีแดดแรงมาก แต่ก็ไม่มีแสงตรงไหนจ้าเกินกว่าปกติ จะเห็นได้ว่าแสงทั่วกันทั้งภาพ ไม่เกิดอาการขอบมืด หรือไม่มีแสงแฟร์ออกมาให้เห็น

 

การตั้งค่ากล้องสำหรับถ่ายวิดีโอ

 

• ความละเอียดไฟล์วิดีโอ

 

source cottonbro

กล้องรุ่นใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะถ่ายวิดีโอ 4K ได้แล้ว แต่ต้องดูด้วยว่าอุปกรณ์ที่ใช้ตัดต่อ ไม่ว่าจะคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์เสริมต่างๆ รองรับไฟล์ 4K หรือเปล่า เพราะยิ่งความละเอียดสูง ไฟล์จะยิ่งใหญ่ และถ้าอุปกรณ์มีสเปคไม่แรงพอ ก็อาจจะทำให้การตัดต่อไม่ราบรื่น หรือแย่สุดๆ ก็เปิดไฟล์ไม่ได้เลย

 

แนะนำให้ใช้ไฟล์ Full-HD ที่นิยมเอาไปใช้ตัดต่อได้ง่าย และเข้ากับอุปกรณ์ตัดต่อได้เกือบทุกประเภท แล้วเน้นเรื่องการตั้งค่า Bitrate สำหรับการบันทึกแทน โดยให้ตั้งค่าไปที่ Bitrate สูงสุดของกล้อง จะทำให้ได้รายละเอียดในวิดีโอที่ดีขึ้น

 

• เฟรมเรท

 

ในเรื่องของเฟรมเรทนั้นสำคัญมาก เพราะจะมีผลต่อจำนวนภาพที่แสดง หรือความต่อเนื่องภาพที่มีใน 1 วินาที

 

source Pressmaster

- สำหรับการถ่ายวิดีโอทั่วไป จะเลือกใช้เฟรมเรทอยู่ที่ 30fps, 50fps, 60fps ซึ่งการเลือก fps ที่จะใช้ จะขึ้นอยู่กับว่าเฟรมนั้นๆ มีการเคลื่อนไหวมากเท่าไหร่ ถ้ามีการเคลื่อนไหวเร็ว อาจจะต้องเพิ่มเฟรมเรทขึ้น เพราะเฟรมเรทเยอะขึ้น จะทำให้เก็บภาพต่อวินาทีมากกว่าเดิม ก็จะทำให้ได้ภาพที่ลื่นไหล

 

source Taryn Elliott

- สำหรับการตั้งค่าเพื่อเอาฟุตเทจไปดึงทำ Slow Motion ให้เนียนและไม่กระตุก จะต้องปรับค่าเฟรมเรตอยู่ที่ 50fps, 100fps, 120fps, 240fps ยิ่งเฟรมเรทสูง ก็ยิ่งทำให้ภาพลื่นไหลมากขึ้น ภาพดูต่อเนื่อง และไม่โดดข้ามเฟรม

 

- สำหรับงานภาพยนตร์ จะเลือกใช้เฟรมเรทอยู่ที่ 24fps

 

• การตั้งค่าสปีดชัตเตอร์

 

แนะนำการตั้งค่าสปีดชัตเตอร์ตามกฎ 180 องศา จะเป็นกฎที่ทำให้ Motion blur ตรงกับสายตาคนมากที่สุด ภาพที่ได้จะเป็นมิตรกับสายตาคน เพราะภาพจะตรงกับสายตา สมองจะไม่ทำงานหนัก และจะสามารถทำให้สามารถดูวิดีโอนั้นได้เรื่อยๆ

 

ก่อนจะตั้งค่าสปีดชัตเตอร์ ต้องดูที่เฟรมเรทว่าตั้งอยู่ที่เท่าไหร่ ค่าสปีดชัตเตอร์ต้อง x2 เช่น 20fps สปีดชัตเตอร์จะอยู่ที่ 1/50 หรือ เฟรมเรทอยู่ที่ 50fps สปีดชัตเตอร์จะอยู่ที่ 1/100

 

• การตั้งค่า White Balance

 

แนะนำว่าไม่ให้เปิด Auto White Balance เพราะแค่ถ่ายในสตูดิโอ ที่มีการจัดแสงไว้แล้ว สมมติว่าถ้าใช้แบบออโต้ แล้วขยับตัวหรือยกมือ ค่า White Balance ก็จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยิ่งการถ่าย Outdoor ก็ไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะมีแสงที่ไม่ได้คาดคิดมาจากทุกทิศทาง

 

ดังนั้นต้องตั้งค่า White Balance ไว้ จะทำให้แสงไม่วืดไปมา และจะทำให้ง่ายต่อการเอาไปตัดต่อ ไม่ต้องเสียเวลาในการย้อมให้สีและแสงแต่ละซีนเท่ากัน

 

- ตั้งค่าอุณหภูมิสีเอง (K หรือ Kelvin)

 

ส่วนใหญ่แล้วก็เทียบการปรับเคลวินตามตารางนี้ได้เลย จากตารางนี้ด้านซ้ายเป็นค่าเคลวิน ด้านขวาเป็นสภาพแสง ดูตามสถานการณ์ว่าควรปรับค่าเคลวินไปที่ประมาณเท่าไหร่ อย่างการถ่ายในสตูดิโอที่มีการแหล่งกำเนิดแสงที่ควบคุมได้ ก็ปรับค่าเคลวินอยู่ที่ 4000 - 5500K

 

source วิธีตั้งค่า White Balance สำหรับมือใหม่

ตารางอุณหภูมิ White Balance

อุณหภูมิสี
แหล่งกำเนิดแสง

10000 - 15000 K

ท้องฟ้าเปิด

6500 - 8000 K

ท้องฟ้าที่มีเมฆ - เมฆมาก

6000 - 7000 K

แสงอาทิตย์ตอนกลางวัน

5500 - 6500 K

แสงระดับกลางระหว่างวัน

5000 - 5500 K

แฟลชอิเล็กทรอนิกส์

4000 - 5000 K

ไฟฟลูออเรสเซนต์

3000 - 4000 K

ช่วงเช้าตรู่/ช่วงดึก

2500 - 3000 K

แสงไฟในที่ร่ม

1000 - 2000 K

แสงจากเทียน

 

มีการขยับตัว เดิน แสงก็ไม่เปลี่ยน

source cottonbro

ถ้าถ่ายเสร็จแล้วจะเอาไปตัดต่อ แต่พอมาดูในคอมฯ แล้วยังไม่ชอบสี ก็สามารถแก้สีได้ทั้งคลิป ไม่ต้องแก้ทีละซีนแบบตอนใช้โหมดออโต้แน่นอน

 

• การตั้งค่าเสียงกล้องและไมค์เสริม

 

แน่นอนอยู่แล้วว่าการถ่ายวิดีโอ ถ้าอยากได้เสียงที่คมชัดและชัดเจน เกิดความผิดพลาดของเสียงน้อยที่สุด จะต้องใช้ไมค์เสริม แต่หลายคนต่อไมค์เสริมแล้วใช้เลย ไม่ได้สนใจกับการตั้งเสียงในกล้อง ทำให้เผลอตั้งระดับเสียง ทั้ง Volume ในกล้องและ Volume ไมค์เสริมจนสุด สิ่งที่ได้คือเสียงแตกและพีค ซึ่งแก้ยากเหมือนกับการแก้สีตอนเปิด Auto White Balance

 

ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มถ่ายงาน จะต้องตั้งค่าเสียงของกล้องและไมค์เสริมก่อน และเช็คระบบเสียงโดยการพูด และดูค่า Gain ทั้ง 2 ค่า ที่มีหน่วยวัดค่าระดับเสียงขึ้น-ลงตามเสียงพูด ถ้าตอนที่เสียงดัง แล้วค่าเสียงวิ่งไปจนเต็มหลอด เสียงในวิดีโออาจจะพีคได้ ดังนั้นต้องปรับลดค่าลงมา แต่ถ้าไม่ถึง ก็สามารถตั้งค่าเสียงตามนั้นได้เลย

 

ก่อนการถ่ายวิดีโอแต่ละครั้ง เริ่มจากการเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ว่าในการถ่ายแต่ละครั้งเราต้องการสื่อสารมุมมองภาพไปแบบไหน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอุปกรณ์ก็จะเพิ่มตามความใหญ่ของ Production วิดีโอนั้นๆ และนอกจากอุปกรณ์ที่ต้องครบครัน เพื่อการถ่ายแบบครอบคลุมและได้ฟุตเทจครบตามต้องการแล้ว ยังต้องเรียนรู้การตั้งค่ากล้อง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการถ่ายวิดีโอ ให้เข้าใจการใช้งานกล้องได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้การทำงานผิดพลาดน้อยที่สุด ไม่ต้องแก้ไขเยอะ ทำงานได้ตามแพลนที่วางไว้ และได้ฟุตเทจตามที่ต้องการ งานวิดีโอจะดูมืออาชีพมากขึ้น

บทความ ก่อนหน้านี้:
บทความ ถัดไป:

หมวดหมู่สินค้า