เชื่อไหมครับ? ว่าการเลือก Memory Card ให้เหมาะกับการใช้งานเป็นเรื่องที่สำคัญมากพอ ๆ กับการเลือกใช้เลนส์ให้เหมาะกับสถานการณ์เลยทีเดียวนะครับ เพราะ Memory Card คือสิ่งที่ทำหน้าที่บันทึกไฟล์ของเราเอาไว้ และหนึ่งในปัญหาไฟล์เสียหายที่พบเจอกันบ่อย ๆ ก็มาจากการเลือกใช้ Memory Card ที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งานนี่เองล่ะ
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นไฟล์งานหรือไฟล์ส่วนตัวของเรา เราก็ไม่อยากให้มันต้องเสียหายไปใช่ไหมล่ะ เพราะช็อตเด็ดจังหวะสำคัญที่ผ่านไปแล้วมีเงินสิบล้านก็ย้อนเวลาไปซื้อมันกลับมาไม่ได้หรอกนะ เพราะฉะนั้นวันนี้พวกเราชาว BIG Camera เลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Memory Card พร้อมแชร์เทคนิคการเลือกซื้อ Memory Card กันครับ เอ้า ไปครับ เราไปดูกันเลย

อย่างที่เรารู้กันดีว่า Memory Card หรือการ์ดความจำ เป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อใช้ที่เก็บบันทึกไฟล์ข้อมูลต่าง ๆ โดยความสามารถของ Memory Card จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ Read Speed (R) และ Write Speed (W) ซึ่งความสามารถในส่วน Read Speed ก็จะมีความหมายตรงตัวเลย คือเป็นความเร็วในการอ่าน บ่งบอกความสามารถในการอ่านข้อมูลเพื่อแสดงผล มีผลโดยตรงต่อความเร็วและความไหลลื่นในการเปิดไฟล์ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ
ส่วน Write Speed หมายถึงความเร็วการเขียน เป็นความสามารถในด้านการบันทึกข้อมูลนั่นเองครับ ยิ่งตัวเลขของ Write Speed เยอะ Memory Card ใบนั้นก็จะมีความสามารถในการส่งข้อมูลปริมาณมหาศาลได้ดีกว่า Memory Card ที่มี Write Speed ต่ำ ความสามารถหลัก ๆ ของ Memory Card ก็จะมีอยู่ 2 ส่วนนี้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีมากมายหลากหลายแบบให้เลือกใช้กัน และบนกล่องและบนตัวของ Memory Card แต่ละใบ มันจะมีการระบุข้อมูลความสามารถของมันลงไปอย่างชัดเจนในรูปของสัญลักษณ์ต่าง ๆ

แล้วทีนี้เราจะรู้ได้ยังไงล่ะว่า Memory Card แต่ละใบ มันมีความสามารถในการเขียน/อ่านข้อมูลระดับไหน? ... ป้ะ ไปกันต่อเลย ตามมาทางนี้เลยครับ

สำหรับการดูความสามารถของ Memory Card อันดับแรกสุดคือการดูที่เลขคลาสของ Memory Card นั่นเองครับ คลาสของ Memory Card จะมีสัญลักษณ์เป็นตัวเลขที่อยู่ในตัวอักษร C ใช้บอกความเร็วขั้นต่ำในการเขียนข้อมูลแบบหยาบ ๆ เป็น MB/s (เมกะบิตต่อวินาที) ให้กับเราได้
เช่น Memory Card คลาส 4 ก็จะมีความเร็วขั้นต่ำในการเขียนข้อมูล 4MB/s ส่วน Memory Card คลาส 10 ก็จะมีความเร็วขั้นต่ำในการเขียนข้อมูล 10MB/s เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันที่ยังพบเห็นกันได้ก็มีเพียงแค่ Memory Card คลาส 10 เท่านั้น เนื่องจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีของกล้องเติบโตอย่างต่อเนื่องมาไกลมาก ทำให้ความละเอียดของภาพนิ่งและวิดีโอในปัจจุบันสูงจน Memory Card ที่ต่ำกว่าคลาส 10 ไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้อีกต่อไปนั่นเอง

ถัดมาที่สัญลักษณ์ตัวเลขที่อยู่ในตัวอักษร U ที่เป็นสัญลักษณ์แสดง UHS Speed Class โดยจะมีแค่ U1 กับ U3 ซึ่ง U1 จะมีความเร็วในการเขียนข้อมูลขั้นต่ำที่ 10MB/s ส่วน U3 จะอยู่ที่ 30MB/s เลยทีเดียวครับ

และอีกอันที่สามารถใช้ดูความเร็วในการเขียนข้อมูลแบบหยาบ ๆ ได้อีกก็คือ Video Speed Class ที่มีสัญลักษณ์เป็นตัวอักษร V ติดกับตัวเลข 6, 10, 30, 60 และ 90 ที่เห็นกันบ่อย ๆ ก็จะเป็น V30, V60 และ V90 ตัวเลขข้างหลังตัวอักษร V คือความเร็วเป็น MB/s ซึ่งวิธีอ่านก็เหมือนกันกับเลขคลาสเลยครับ เช่น Memory Card V30 ก็คือการ์ดความจำที่มีความเร็วในการเขียนข้อมูลขั้นต่ำที่ 30MB/s และถ้าเป็น V90 ก็จะมีความเร็วในการเขียนข้อมูลขั้นต่ำที่ 90MM/s นั่นเอง

และจุดสุดท้ายที่จะบอกความสามารถของ Memory Card ให้กับเราได้ก็คือพนักงานขายนั่นเองครับ (ฮา) หยอก ๆ สุดท้ายคือสเปคบนกล่องต่างหากล่ะ ซึ่งข้อนี้มันจะบอกเราอย่างชัดเจนเลยว่า Memory Card ใบนั้น ๆ มันมีอัตราความเร็วในการเขียน/อ่านข้อมูลเท่าไหร่ บนหน้ากล่อง Memory Card ทุกใบจะมีเขียนเอาไว้ให้เห็นเป็นตัวเลขชัด ๆ เลยว่า “Speed Up To ×××MB/s” แต่บังเอิญว่าตัวเลขพวกนั้นมันคือความเร็วในการอ่านข้อมูลนะครับ ไม่ใช่ความเร็วในการเขียนข้อมูล

ซึ่งถ้าอยากรู้ว่าการ์ดความจำใบนั้นมันเขียนได้ไวแค่ไหน ทางเดียวคือเราจะต้องพลิกหลังกล่องไปดูกันเอาเองโดยให้ดูที่ Write Speed ของการ์ดใบนั้นครับ (แต่ก็มีการ์ดความจำบางรุ่นเหมือนกันที่มีค่า Write Speed ของการ์ดโชว์อยู่ทั้งบนกล่องและบนตัวการ์ดเลย) เพียงเท่านี้ก็จะทราบแล้วว่าการ์ดไปนั้นมีอัตราความเร็วในการเขียนข้อมูลเท่าไหร่กันแน่

เป็นยังไงบ้างครับ มาถึงตรงนี้คงเริ่มเข้าใจกันแล้วใช่ไหมว่าทำไม Memory Card คลาส 10 เหมือนกันพอเอามาอัดวิดีโอแบบ HD บางใบมันกระตุกแต่บางใบกลับไม่กระตุก นั่นก็เพราะความเร็วในการเขียนข้อมูลของมันไม่เท่ากันนั่นเองครับ ซึ่งโดยปกติแล้วความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลของการบันทึกวิดีโอแบบ 4K นั้นจะต้องใช้ความเร็วขั้นต่ำในการเขียนข้อมูลที่ 60MB/s และสำหรับระดับความคมชัดที่ FHD ก็จะต้องใช้ถึง 30MB/s

แต่ถ้าจะให้ดีแนะนำว่าลองเช็คค่า MB/s ในการถ่ายวิดีโอที่ระดับความละเอียดต่าง ๆ ของกล้องตัวนั้น แล้วเลือกใช้การ์ดความจำที่มีค่าความเร็วในการเขียนข้อมูลที่ครอบคลุมจะดีกว่าครับ แบบนั้นตรงประเด็นและตอบโจทย์ความต้องการอย่างแน่นอน
เอาล่ะครับ ทีนี้ก็เลือกใช้กันได้ถูกแล้วนะครับ เผื่อเหลือเผื่อขาดเราก็จัด Memory Card แบบตัวโหด ๆ เทพ ๆ ไปเลยก็ดี จะได้ไม่ต้องมาเจ็บใจที่พลาดช็อตเด็ด ๆ ไปเพราะการ์ดคำนวณไม่ทัน ช็อตเด็ดที่ผ่านไปแล้วน่ะมีเงินก็ซื้อกลับมาใหม่ไม่ได้นะครับ สำหรับคนที่สนใจอยากได้การ์ดความจำดี ๆ แวะมานะ ที่ร้าน BIG Camera กว่า 160 สาขาทั่วประเทศ แล้วเจอกันครับ