Leitz สาระ องก์ที่ 4 Leica APO "เลนส์ Leica APO คือเลนส์อะไร? มันดีอย่างไร เราไปดูกัน"

Leitz สาระ องก์ที่ 4 Leica APO "เลนส์ Leica APO คือเลนส์อะไร? มันดีอย่างไร เราไปดูกัน"
26/09/24
150 view(s)
Leitz สาระ องก์ที่ 4 Leica APO "เลนส์ Leica APO คือเลนส์อะไร? มันดีอย่างไร เราไปดูกัน"

          สวัสดีครับ กลับมาเจอกันอีกแล้ว วันนี้ก็จะมาเล่าตำนานชาวกล้องให้อ่านกันอีกแล้วครับ และจั่วหัวมาเป็น “Leitz สาระ” แบบนี้เป็นต้องหนีไม่พ้นเรื่องแก้ว ๆ เลนส์ ๆ อย่างแน่นอน ใช่ครับ วันนี้ที่จะเอามาเล่าให้อ่านกันมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับเลนส์ แต่ก็ไม่ใช่เลนส์ธรรมดานะ เพราะมันเป็นเลนส์ที่ถูกยกย่องให้เป็นเลนส์ไร้คลาดสีในตำนานกันเลยทีเดียว นั่นก็คือเลนส์ Leica APO นั่นเองครับ เดี๋ยววันนี้ล่ะจะพาไปดูว่าเลนส์ APO มันคือเลนส์อะไร? มีดียังไง? แล้วไอ้อาการคลาดสีหรือเหลื่อมสีที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ มันคืออะไร? นอกจากการสร้างเลนส์ APO แล้ว มันมีวิธีไหนบ้างที่แก้ไขจัดการได้? ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับเลนส์ APO กันก่อนว่ามันคืออะไร? ไปครับ! เราไปดูกันเลย!

cr. Quentin Lagache

          เลนส์ APO หมายถึงเลนส์ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษให้มีประสิทธิภาพในการแก้คลาดสีได้ดีที่สุดและมอบความคมชัดที่ยอดเยี่ยมไปพร้อม ๆ กัน มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า “เลนส์ Apochromatic” ส่วนเลนส์ Leica APO ก็หมายถึงเลนส์ของ Leica ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อการนี้โดยเฉพาะนั่นเองครับ แต่ก่อนจะไปดูกันว่าเลนส์ Leica APO มันดีกว่าของคนอื่นยังไง เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่าปัญหาการคลาดสี (Chromatic Aberration) มันคืออะไร และมันแสดงผลยังไง แล้วกว่าจะมีเลนส์ APO มาให้ใช้ที่ผ่านมาเขาแก้ปัญหาการคลาดสีกันยังไง

 chromatic aberration - cr. Adrien

          ปัญหาการคลาดสี (Chromatic Aberration) ถูกรู้จักกันดีในชื่อของ “อาการเหลื่อมสี” มันคือความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณขอบวัตถุในเฟรมภาพ มีได้ตั้งแต่สีม่วง สีเขียว หรือสีแดงฟุ้งขึ้นมาบนขอบของวัตถุนั้น ๆ และถ้ายิ่งเราซูมขยายดูก็จะยิ่งเห็นชัด โดยการคลาดสีนี้มันเกิดจากความยาวคลื่นสีของแต่ละสี (Spectrum ของแสง RGB) ที่ไม่เท่ากัน ตกลงมาบนจุดที่คลาดเคลื่อนห่างจากกัน จึงต้องมีการออกแบบชิ้นเลนส์พิเศษกระจายแสงต่ำ (Low Dispersion) ขึ้นมา เพื่อให้ Spectrum ของแสงทั้ง RGB ถูกรวมมาตกลงที่จุดเดียวกันหรือคลาดเคลื่อนจากจุดนั้นน้อยที่สุด ซึ่งอันที่จริงแล้วปัญหาการคลาดสีนี้มันมีมานานเป็นพันปีเลยนะครับ เรียกว่าตั้งแต่เริ่มมีการประดิษฐ์เลนส์ขึ้นมาก็เจอปัญหานี้กันเลยล่ะ

Crystal - cr Kira auf der Heide

          จนกระทั่งมีการค้นพบว่าถ้าเราเอาผลึก Fluorite Crystal มาหลอมแล้วขัดขึ้นรูปทำเป็นชิ้นเลนส์มันจะช่วยลดการคลาดสีลงไปได้เยอะมาก ๆ เลย แต่ก็อย่างว่าล่ะนะในระหว่างการค้นคว้าพัฒนา ทุกทางออกที่เกิดขึ้นมันก็มักจะมีปัญหาตามมาเสมอ แถมปัญหาในครั้งมันมาจากสิ่งเป็นทางออกของปัญหาเองเลยด้วย เพราะว่าผลึก Fluorite Crystal ในธรรมชาติที่เอามาใช้ทำชิ้นเลนส์พิเศษมันมีปริมาณน้อยมาก ส่งผลทำให้การสร้างเลนส์ที่มีชิ้นเลนส์พิเศษที่ผลิตจากผลึก Fluorite Crystal ในธรรมชาติมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงตามไปด้วยนั่นเอง

          จึงนำมาสู่การพยายามเอาชนะธรรมชาติด้วยวิทยาการ เป็นความท้าทายครั้งใหม่ของการพยายามผลิตชิ้นเลนส์จากผลึก Fluorite Crystal สังเคราะห์เพื่อลดต้นทุนด้วยปริมาณ แต่แน่นอนว่ามันก็ยังมีข้อเสียใหญ่ ๆ ในช่วงแรกอยู่เหมือนกันครับ คือผลึก Fluorite Crystal ที่สังเคราะห์ขึ้นมานี้มันทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่สูงมากไม่ได้ และในยุคนั้นการใช้กระบอกเลนส์เป็นสีดำก็ยังแพร่หลายอยู่ ซึ่งก็ด้วยกระบอกเลนส์สีดำนี้เองครับที่มันดูดแสงจนทำให้เกิดความร้อนสูงสะสมอยู่ภายในกระบอกเลนส์ ทำให้ชิ้นเลนส์พิเศษที่ผลิตจากผลึก Fluorite Crystal สังเคราะห์ที่อยู่ภายในกระบอกเลนส์ถึงกับแตกร้าวกันเลยทีเดียว

cr. Tai's Captures

          ทำให้จากเดิมที่กระบอกเลนส์เคยเป็นสีดำ ก็เลยต้องเปลี่ยนกระบอกเลนส์ให้กลายมาเป็นสีขาวแทน เพื่อลดการสะสมของอุณภูมิภายในกระบอกเลนส์ลง แต่แม้ว่าจนถึงตอนนี้เราจะสามารถสังเคราะห์ผลึก Fluorite Crystal มาใช้ทำชิ้นเลนส์พิเศษกันได้แล้ว แถมยังแก้ปัญหาความร้อนสูงที่สะสมอยู่ภายในกระบอกเลนส์ได้อีกด้วย แต่สุดท้ายถึงจะสามารถสังเคราะห์ผลึก Fluorite Crystal ขึ้นมาใช้ได้ มันก็ยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่ยังค่อนข้างสูงอยู่ดีครับ

          การคิดค้นนวัตกรรมการแก้คลาดสีจึงยังต้องดำเนินต่อไป และในที่สุดก็ได้เป็นชิ้นเลนส์พิเศษกระจายแสงต่ำ LD (Low Dispersion) ที่สามารถจัดการกับปัญหาการคลาดสีได้ในราคาที่ถูกกว่าด้วยประสิทธิภาพที่สูงถึงครึ่งหนึ่งของการใช้ผลึก Fluorite Crystal มาทำชิ้นเลนส์เลยทีเดียว พูดง่าย ๆ ก็คือต่อให้เราต้องเอาชิ้นเลนส์กระจายแสงต่ำ LD (Low Dispersion) จำนวน 2 ชิ้น มาใช้ทดแทนชิ้นเลนส์พิเศษที่ทำจากผลึก Fluorite Crystal 1 ชิ้น แต่มันก็ยังมีต้นทุนในการผลิตที่ราคาถูกกว่านั่นเองครับ แถมนอกจากจะทนทานต่อเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้ดีขึ้นแล้ว มันยังมีน้ำหนักที่เบา และขนาดที่เล็กลงกว่าเดิมอีกด้วย

          ซึ่งอันที่จริงแล้ว หลังจากการมาของชิ้นเลนส์พิเศษกระจายแสงต่ำ LD (Low Dispersion) ที่เราใช้แก้คลาดสีกันอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ มันก็ยังมีชิ้นเลนส์พิเศษอีกชนิดหนึ่งที่เกือบจะกลายเป็นรุ่งอรุณใหม่ของยุคที่ไร้แล้วซึ่งปัญหาการคลาดสีตามมาด้วยนะครับ เพราะเลนส์พิเศษชนิดนั้นมันสามารถแก้คลาดสีได้อย่างสมบูรณ์แบบเลย ถึงขนาดที่ว่าไม่ว่าจะเป็นเลนส์รุ่นไหนถ้าได้มีชิ้นเลนส์พิเศษชนิดที่ว่านี้ใส่อยู่ในโครงสร้างชุดเลนส์แล้วล่ะก็ จะไม่มีปัญหาคลาดสีมาให้เห็นเลยแม้แต่น้อย

          แต่เรื่องนั้นขอยกยอดเอาไปเล่าให้อ่านกันอีกทีบทความหน้าแล้วกัน ตอนนี้เรากลับมาที่เรื่องของเลนส์ APO กันก่อนดีกว่า

 ภาพจำลองเทียบความสามารถในการรวม Spectrum ของแสง RGB

          มาถึงตรงนี้ก็น่าจะทราบกันแล้วว่าในการแก้คลาดสีจะต้องใช้ชิ้นเลนส์พิเศษกระจายแสงต่ำในตระกูล LD (Low Dispersion) มาช่วย และเลนส์ APO ก็ไม่สามารถหนีออกไปจากกฎนี้ได้เช่นกัน แต่ความต่างในการแก้คลาดสีของเลนส์ทั่วไปกับเลนส์ APO ก็คือเลนส์ APO มันเป็นเลนส์ที่ถูกออกแบบทางวิศวกรรมมาเป็นอย่างดี มีมาตรฐานในการประดับยศ APO ที่สูงมาก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการแก้คลาดสีอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดตามมาตรฐานที่แต่ละค่ายตั้งเอาไว้

          ด้วยหลักการออกแบบที่เป็นสูตรลับตำรับพิเศษของแต่ละค่าย ที่จะนำเอาชิ้นเลนส์พิเศษมากมายทั้งเลนส์พิเศษกระจายแสงต่ำในตระกูล LD (Low Dispersion) ไปจนถึงเลนส์พิเศษแก้คลาดทรงกลมในตระกูล Aspherical มาจัดวางในโครงสร้างชุดเลนส์ภายใน เพื่อรวม Spectrum ของแสง RGB ให้มาตกรวมกันในจุดที่ Spectrum ของแสง RGB จะแยกห่างจากกันน้อยที่สุด

          และความเจ๋งของเลนส์ Leica APO ก็คือความสูงลิบลิ่วของมาตรฐานและข้อกำหนดในการผลิตนี้เองครับ โดยที่เลนส์ของ Leica นั้นจะได้รับการประดับยศ APO นี้ก็ต่อเมื่อเหลื่อมสีทั้ง Spectrum เพียงแค่ไม่เกิน 0.001mm เท่านั้น ถ้าหากมีการกระจายตัวของ Spectrum เกินกว่านี้ต่อให้เกินมาแค่ 0.0001mm ก็จะไม่ได้รับการประดับยศ APO ลงไป และตัดตกออกจากตระกูล Leica APO ทันที

          ตรงส่วนนี้อาจารย์ของผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังว่ามีเลนส์ Leica ระดับตำนานอยู่รุ่นหนึ่ง (แต่ขอไม่ระบุว่าเป็นรุ่นไหนแล้วกันนะครับ) คือมันเป็นเลนส์จาก Leica ที่ภายในโครงสร้างชุดเลนส์อัดแน่นด้วยชิ้นเลนส์พิเศษเอาไว้มากมาย และโดยภาพรวมแล้วไม่ว่าจะเป็นเอกลักษณ์เลนส์ หรือคุณภาพความคมชัด และความสามารถในการให้สีสันของตัวเลนส์เอง ก็ล้วนแล้วแต่สามารถทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมจนน่าทึ่ง เป็นเลนส์ระดับตำนานที่มีแต่คนฝันถึงและอยากครอบครอง แต่เลนส์ Leica รุ่นนั้นกลับไม่ได้รับการประดับยศ APO จาก Leica เพราะการกระจายตัวของ Spectrum ยังเกินจากมาตรฐานของ Leica APO ที่ถูกกำหนดไว้

          ซึ่งก็ด้วยเข้มงวดและความเข้มข้นตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงมาตรฐานในการผลิตของ Leica นี่ล่ะครับ ที่ทำให้เลนส์ Leica APO แตกต่างออกไปจากเลนส์ APO อื่น ๆ กลายเป็นเลนส์ที่สามารถแก้ไขและจัดการปัญหาการคลาดสีได้อย่างสมบูรณ์แบบ

          ด้วยการผสมผสานความเข้มงวดอันไม่ย่อหย่อนต่อสิ่งใด เข้ากับความประณีตในด้านงานออกแบบเอาไว้ด้วยกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการถ่ายภาพที่ไร้ที่ติ ทั้งในแง่ของความคมชัด สีสันที่แม่นยำ และการจัดการแสงที่ยอดเยี่ยม มันไม่แปลกเลยครับที่เลนส์ Leica APO จะถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในสุดยอดเลนส์ APO ของวงการกล้อง

          เอาล่ะครับ สำหรับบทความนี้ก็คงต้องขอลากันไปก่อน แล้วเจอกันใหม่บทความหน้า ... เพราะทุกตำนานของ Leica มีเรื่องเล่า เราเลยอยากส่งต่อ

          เมื่อซื้อกล้องที่ BIG CAMERA รับสิทธิพิเศษเหนือใครเพิ่ม 9 ต่อ ร่วมลุ้นเป็น 1 ใน 15 ท่านผู้โชคดี กับแคมเปญสุดยิ่งใหญ่แห่งปี BIG CAMERA BIG Bonus 2024

 

ร่วมทริปท่องเที่ยวถ่ายภาพ Fashion Photo Workshop สุด Exclusive ณ ประเทศโปรตุเกส 7 วัน 4 คืน ร่วมด้วยนักแสดงสาวมิ้นท์ รัญชน์รวี และ ช่างภาพมืออาชีพระดับท็อปคลาสของไทย พี่จอร์จ-ธาดา วารีช ที่จะพาคุณเปิดโลกการถ่ายภาพแฟชั่นระดับมืออาชีพ สร้างสรรค์แฟชั่นเซทสุดอลังการ พร้อมทั้ง การสอนถ่าย Landscape วิวทิวทัศน์อันงดงามในดินแดนแห่งเสน่ห์ตะวันตกของประเทศโปรตุเกสกับ คุณกอล์ฟ-กันตพัฒน์ พฤฒิธรรมกูล แห่งเพจ กอล์ฟมาเยือน สำหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้าที่ร้าน BIG CAMERA กว่า 160 สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้ - 15 ม.ค. 68

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่   https://www.bigcamera.co.th

 

#BIGCamera ศูนย์รวมกล้องดิจิตอลที่มีความสุขให้เลือกมากที่สุด

     #โฟกัส..ให้ลึกถึงตัวตน เริ่มต้นที่ Big Camera

บทความ ก่อนหน้านี้:
บทความ ถัดไป:

หมวดหมู่สินค้า