Leitz สาระ องก์ที่ 1: ก้าวแรกของตำนาน หนึ่งจุดแดงแห่ง Wetzlar “จากกล้องจุลทรรศน์สู่ Milestone ของตากล้องทั้งโลก”

Leitz สาระ องก์ที่ 1: ก้าวแรกของตำนาน หนึ่งจุดแดงแห่ง Wetzlar “จากกล้องจุลทรรศน์สู่ Milestone ของตากล้องทั้งโลก”
04/07/24
225 view(s)
Leitz สาระ องก์ที่ 1: ก้าวแรกของตำนาน หนึ่งจุดแดงแห่ง Wetzlar “จากกล้องจุลทรรศน์สู่ Milestone ของตากล้องทั้งโลก”

ถ้าบอกว่า Leica มีจุดกำเนิดจากการเป็นกล้องจุลทรรศน์มาก่อนจะเชื่อกันไหมครับ

 

ใช่ครับ ตำนานของ Leica กล้องหนึ่งจุดแดงที่เป็นความใฝ่ฝันของตากล้องทั้งโลกนี่ล่ะครับ มันมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ Lab กล้องจุลทรรศน์ในเมือง Wetzlar ประเทศ Germany นี่เอง และวันนี้เราจะพาทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้ดำดิ่งไปสู่จุดเริ่มต้น ไปค้นหารากเหง้า ไปสืบค้นตัวตน เพื่อไปดูว่าที่มาที่ไปของ Leica มีจุดเริ่มต้นยังไง ทำไมถึงกลายเป็น Iconic แห่งรสนิยมที่พลิกโฉมทั้งวงการกล้องได้ขนาดนี้ เพราะทุกตำนานของ Leica มีเรื่องเล่า เราเลยอยากส่งต่อ

จุดเริ่มต้นการเดินทางบนบาทวิถีแห่ง Optic ของ Leica เริ่มออกสตาร์ทในปี 1869 โดย Ernst Leitz ผู้ก่อตั้ง Ernst Leitz Optische Werke เพื่อผลิตกล้องจุลทรรศน์สำหรับใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ Lab กล้องจุลทรรศน์ในเมือง Wetzlar ประเทศ Germany นี้เอง ที่มีส่วนสำคัญในการทำให้ Leica ครองความเชี่ยวชาญในการผลิตชิ้นเลนส์ อันเป็นรากฐานสำคัญที่มั่นคงของกล้อง Leica และการสร้างเลนส์ระดับตำนานมากมายในเวลาต่อมา ในขณะนั้นมันเป็นเวลา 10 ปีก่อนหน้าที่ Oskar Barnack จะลืมตาขึ้นมาดูโลกเป็นครั้งแรก เวลา 10 ปีก่อนการมาถึงของบุคคลที่ในอนาคต เขาผู้นี้นี่ล่ะ ที่จะพลิกโลกแห่งการถ่ายภาพไปทั้งโลก ....

 

 

จากการเริ่มต้นธุรกิจผู้ผลิตกล้องจุลทรรศน์ในปี 1869 Ernst Leitz Optische Werke กลายมาเป็นบริษัทผู้ผลิตกล้องจุลทรรศน์รายใหญ่ในที่สุด และมรดกแห่งจิตวิญญาณนี้ก็ได้ Ernst Leitz II มาเป็นผู้รับไม้ต่อ สืบทอดความยิ่งใหญ่นั้นต่อมาอย่างเนิ่นนาน จนกลายเป็นผู้ผลิตกล้องจุลทรรศน์รายใหญ่ที่สุดของโลก กระทั่งวันหนึ่งในเดือนมกราคมของปี 1911 วันที่โลกแห่งการถ่ายภาพได้เหวี่ยงเอานายช่างใหญ่ Oskar Barnack ชายผู้มีความฝันและหลงใหลในการถ่ายภาพมายังเมือง Wetzlar อันเป็นที่ตั้งของ Leitz ในปัจจุบัน

.... ที่ซึ่งการโคจรมาพบกันของคนสองคนจะกลายเป็นการจุดโหมเปลวไฟที่ปฏิวัติทั้งวงการถ่ายภาพไปตลอดกาล และนี่คือจุดเริ่มต้นแห่งตำนานของผู้ที่มีความต้องการจะท้าทายขนบเก่าอันคร่ำครึของโลกแห่งการบันทึกภาพ ด้วยความเป็นไปได้ที่เริ่มต้นจากการโฟกัสให้ลึกถึงตัวตนและความต้องการทางการถ่ายภาพของตนเอง ....

ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะได้มาร่วมงานกับ Leitz นายช่างใหญ่ Oskar Barnack เคยทำงานอยู่ในแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท Carl Zeiss บริษัทคู่แข่งคนสำคัญแห่งเมือง Jena มาก่อน และด้วยการแนะนำของเพื่อนที่ย้ายค่ายมายัง Leitz ก่อนหน้านี้ ทำให้ชื่อของ Oskar Barnack ถูกนำเสนอให้ผู้บริหารได้พิจารณาเพื่อรับหน้าที่ด้านการวิจัยพัฒนา

และเพียงแค่แรกพบ Ernst Leitz II ก็รู้ได้ทันทีว่า Oskar Barnack เป็นคนที่มีพรสวรรค์ ซึ่ง ณ ตอนนั้น Ernst Leitz II ก็คงคาดไม่ถึงว่าพรสวรรค์ของ Oskar Barnack จะเขย่าทั้งโลกของการถ่ายภาพได้ถึงขนาดนี้ และนั่นทำให้ Oskar Barnack ถูกรับไว้ทำงานที่ Leitz ทันที

ช่วงเวลานั้นในวันว่าง Oskar Barnack มักจะท่องเที่ยวไปทั่วเมือง Wetzlar พร้อมด้วยกล้องคู่ใจ แต่ในยุคนั้นกล้องถ่ายภาพมันทั้งหนัก ทั้งใหญ่ เทอะทะ ใช้งานก็ยาก เพราะต้องใช้ฟิล์มกระจกที่ค่อนข้างเปราะบาง แถมตัวกล้องยังทำจากไม้และโลหะเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเทียบกับกล้องในปัจจุบันแล้วจะบอกว่ามันคือท่อนซุงขนาดสั้น ๆ สำหรับใช้ในการบันทึกแสงก็คงจะเหมาะกว่า

และด้วยเหตุผลอีกข้อที่มีรากมาจากปัญหาด้านสุขภาพของ Oskar Barnack ที่ป่วยเป็นโรคปอดเรื้อรัง ทำให้นายช่างใหญ่ผู้รักการถ่ายภาพคนนี้ เริ่มคิดที่จะท้าทายความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนอง Passion ทางการถ่ายภาพของตน โดยการเริ่มต้นโฟกัสที่ตัวตนของกล้องในฝันที่เขาต้องการ “Small Negative, Large Picture” กล้องที่เล็กแต่สามารถบันทึกภาพได้อย่างคมชัด

เมื่อ Passion มาพร้อม Purpose เพียงแค่ 2 ปีหลังจากการพบกันครั้งแรกของ Oskar Barnack และ Ernst Leitz II กล้อง Ur-Leica ก็ถือกำเนิดขึ้นมา กล้องต้นแบบรุ่นนี้ก็สร้างความประทับใจให้กับ Ernst Leitz II เป็นอย่างมาก แต่เรื่องราวจะราบรื่นแบบนี้คงมีแค่ในนิทานก่อนนอน ตำนานจะยิ่งใหญ่ได้ยังไงหากไร้ซึ่งอุปสรรค และอุปสรรคของ Oskar Barnack กับ Ernst Leitz II ในครั้งนี้มันคือไฟ! ไฟบรรลัยกัลป์ของสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่โหมกระพือไปทุกหย่อมหญ้า

 

ด้วยสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังมหาสงครามผ่านพ้นไป เพื่อรักษามรดกแห่งจิตวิญญาณของตระกูลเอาไว้ Ernst Leitz II ตัดสินใจอย่างกล้าหาญในการเข็นกล้อง Leica ออกสู่ตลาด และนี่คือก้าวสำคัญก้าวแรกที่จะนำพาชื่อของ Leica ให้กลายเป็นตำนานในกาลต่อมา

 

กล้องขนาดเล็กที่ให้คุณภาพสูงเมื่อถูกนำมาใช้งานร่วมกับเลนส์ที่สามารถหดตัวเข้าไปในตัวกล้องได้ บวกกับการเป็นกล้องที่ใช้งานด้วยฟิล์มขนาด 35mm ก็ยิ่งทำให้มันกลายเป็นกล้องที่พกพาง่ายยิ่งขึ้นไปอีก และจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้กล้อง Leica ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ซึ่งรากฐานเหล่านี้เองที่ทำให้ขนาดฟิล์ม 35mm กลายมาเป็นขนาดมาตรฐานของเซ็นเซอร์กล้อง Full-Frame ในปัจจุบัน

และตั้งแต่ถูกเข็นออกสู่ตลาดในปีแรกจวบจนถึงปี 1933 กล้อง Leica ทำยอดขายได้ถึงกว่า 100,000 ตัว น่าเสียดายที่ Oskar Barnack ได้อยู่ชื่นชมความสำเร็จนี้เพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น ในวันที่ 16 มกราคม 1936 ความสงบนิรันดร์ก็ได้พราก Oskar Barnack ไปจากโลกแห่งการถ่ายภาพ ... ตลอดกาล ... และ 3 ปีต่อมาเพลิงผลาญที่ยิ่งใหญ่กว่าก็มาเยือนโลก เพลิงผลาญที่ถูกขนานนามว่า “สงครามโลกครั้งที่ 2” และกล้อง Leica ที่ถูกทำซ้ำจนยับเยิน

ด้วยความนิยมสูงสุดเป็นประวัติกาล กล้อง Leica ได้กลายเป็นต้นแบบในการทำซ้ำมากมายทั้งในฝั่งตะวักตก หรือแม้แต่ฝั่งตะวันออกเองก็ตาม ยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วยความปราชัยของฝ่ายอักษะ สิทธิบัตรมากมายของนักประดิษฐ์ในเยอรมนีที่ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรยึดไปใช้ ก็ยิ่งทำให้กล้อง Leica ถูกทำซ้ำหนักเข้าไปอีก

 

ณ ช่วงเวลานี้เอง ที่ Leica ตัดสินใจฉีกหนีจากความสำเร็จเดิมที่ถูกทำซ้ำไปทั่วจนยับเยิน ด้วยการพัฒนากล้อง Leica M ขึ้นมาท้าทายความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ...
ติดตั้งวิวไฟน์เดอร์เข้าไป!
เปลี่ยนเมาท์กล้องใหม่เป็นแบบเดือย!
ไปอยู่ในมือของช่างภาพชื่อดังมากมาย!
บันทึกภาพประวัติศาสตร์เอาไว้นับไม่ถ้วน!
และกลายเป็นตำนานของนักเลงกล้องที่ยังมีลมหายใจสืบต่อมาจนปัจจุบัน!

เรียกว่าเป็นเรื่องราวที่แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็ยังคิดว่าถ้าได้มาโลดแล่นอยู่บนแผ่นฟิล์มมันคงจะดูดีเพลิดเพลินน่าชมไม่น้อยเลย และถ้าเลือกได้ก็อยากขอให้ Christopher Nolan มากำกับด้วยนะ (ฮาา)

เอาล่ะครับ สำหรับวันนี้ก็จบลงไปแล้วเพียงเท่านี้ เดี๋ยวว่าง ๆ จะมาเล่าให้อ่านกันอีก ส่วนวันนี้ก็คงต้องขอลากันไปแต่เพียงเท่านี้ แล้วเจอกันใหม่บทความหน้า สวัสดีครับ

โฟกัสให้ลึกถึงตัวตน เริ่มต้นที่ BIG CAMERA และเพราะทุกตำนานของ Leica มีเรื่องเล่า เราเลยอยากส่งต่อ

 

ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้า สอบถามข้อมูล หรือ ติดตามข่าวสารหรือโปรโมชั่นใหม่ๆ ของทางเราได้ที่นี่

Website : https://www.bigcamera.co.th/

Facebook : https://www.facebook.com/BIGCAMERACLUB

บทความ ก่อนหน้านี้:
บทความ ถัดไป:

หมวดหมู่สินค้า